THG ทรานส์ฟอร์มสู่อนาคต รุกหนักเฮลท์แคร์

“หุ้นโรงพยาบาล” เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความน่าสนใจ แม้เป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง แต่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพ และมีโอกาสต่อยอดจากกลุ่ม Aging society ได้อยู่มาก และมีปัจจัยบวกกลุ่ม Medical Tourism ที่ทยอยกลับเข้ามารับการรักษา รวมถึงสัดส่วนผู้ป่วยในประเทศก็จะกลับเข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่มีการระบาดตามฤดูกาล อาทิ ไข้หวัด ไข้เลือดออก และกลุ่มโรคในเด็ก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปี 2566 รายได้โรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะขยายตัว 3.7% ชะลอจากปี 65 ผลจากกลุ่มคนไข้โควิด-19 ที่ลดลง ขณะที่กำไรของธุรกิจยังถูกกดดันจากต้นทุนดำเนินงานที่ยังสูง ทั้งจากค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนบุคลากร การลงทุนเครื่องมือและสาธารณูปโภค การแข่งขันจากผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด

ดังนั้นการพิจารณาว่า หุ้นโรงพยาบาลใดจะมีอนาคตเติบโตได้ดีมากน้อยขนาดไหน ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่แต่ละโรงพยาบาลใช้ไม่ต่างกันมากนัก หากคงต้องพิจารณาไปที่ “วิสัยทัศน์และแผนธุรกิจ” เป็นสำคัญว่ามีศักยภาพและมีการลงทุนเหมาะสมกับจังหวะเวลา มีวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เท่าทันผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้หรือไม่ เพราะอนาคตรายได้จะไม่ได้มาจากผู้ป่วยที่เข้ามาโรงพยาบาลเท่านั้น แต่โรงพยาบาลต้องสามารถวิ่งออกไปเสนอโซลูชั่นส์ที่ตอบความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ด้วย

โควิดซา อัตรากำไรยังแกร่ง

บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เป็นอีกหนึ่งหุ้นโรงพยาบาลที่ปรับแผนธุรกิจและมองหาวิธีการสร้างรายได้ใหม่ๆ ที่ฉีกกรอบจากการทำธุรกิจโรงพยาบาลแบบเดิมๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุพร้อมบริการสุขภาพแบบครบวงจรเป็นรายแรกๆ ของประเทศ การเปิดคลินิกในปั๊มน้ำมัน การสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงการเข้าซื้อ หรือ ควบรวมกิจกรรมกับโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ จนผลิดอกออกผลสะท้อนผ่านผลประกอบการในปัจจุบัน โดยทำรายได้และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2563 – 2565

สำหรับ ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 หลังปรับตัวเข้าสู่ฐานปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาด THG สามารถทำรายได้รวม 5,023 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 402 ล้านบาท แม้ผลกำไรลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 412 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในกรอบที่วางไว้และเป็นไปตามที่คาด เนื่องจาก 1) การลดลงของการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด - 19 2) ยอดโอนห้องโครงการจิณณ์ที่ชะลอตัว 3) ค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน 4) ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดรายได้ในครึ่งปีหลัง อันจะเห็นได้ว่าข้อ 3 และ 4 เป็นค่าใช้จ่ายของการลงทุนเพื่ออนาคตทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปัจจัยของหุ้น THG ควรประเมินมากกว่าเรื่องผลกำไรที่ลดลงรายไตรมาส แต่อาจพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย อาทิ ความสามารถในการทำกำไรที่จะเห็นได้ว่าอยู่ในแนวโน้มที่ดี โดยงวดครึ่งปีแรก 2566 นั้น THG ยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 28.8% ที่ถือว่ายังคงอยู่ในกรอบมาตรฐานผู้บริหารคาดไว้ และสูงกว่าอัตรากำไรขั้นต้นในช่วงก่อนเกิดโควิด-19ส่วนอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ทำได้ในระดับ 7.3% เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ทำได้ 10.5% ก็เติบโตสูงขึ้นกว่าฐานปกติก่อนโควิด-19 เกือบเท่าตัวเช่นกัน

เร่ง Synergy ในประเทศ ต่างประเทศ พลิกโฉมธุรกิจ

ด้วยโมเดลการสร้างธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรที่มีการลงทุนต่อยอดบริการให้มีความหลากหลาย ปัจจุบัน THG มีจำนวนเตียงจดทะเบียนรวมทุกโรงพยาบาลในเครือและโรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศไทย รวมแล้วทั้งสิ้น 1,520 เตียง ในต่างประเทศมีโรงพยาบาล Ar Yu International ในเมียนมาร์ ที่มีผลตอบรับที่ดีของลูกค้ากลุ่มตลาดบนจึงช่วยทำกําไรมาต่อเนื่อง ขณะที่โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ เพื่อรองรับตลาด Aging Society ก็ได้ต่อยอดผ่าน โครงการ รพ.ธนบุรี รังสิต ภายใต้ความร่วมมือ RAM-THG-VIBHA

ล่าสุด THG ยังคงไม่หยุดที่จะขยายอาณาจักรและทรานฟอร์มองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผ่านกลยุทธ์ที่เน้นการรุกตลาดด้วย Digital Health Tech และเร่งสร้าง Synergy กับ โรงพยาบาลเครือข่ายและสตาร์ทอัพพัฒนาบริการตอบโจทย์ 3 กลุ่มลูกค้าสำคัญ คือ B2C - B2B – B2Gที่ดำเนินการลงทุนผ่านบริษัทต่างๆ ซึ่งเริ่มทยอยเห็นผล อาทิ บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด ที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างระบบ Eco System ด้านดิจิทัล สำหรับทรานส์ฟอร์มโรงพยาบาลในเครือ พัฒนาบริการ Digital Health Tech ล่าสุดเปิดตัว Prompt Care แอปพลิเคชันสุขภาพครบวงจร ตั้งแต่นัดหมาย ให้คำปรึกษาโดยแพทย์เฉพาะทาง แนะนำการใช้ยาและเวชภัณฑ์พร้อมจัดส่ง ตลอดจนเคลมประกัน จัดเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล

ขณะเดียวกันได้ขยายบริการคลินิกสุขภาพในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ภายใต้ชื่อ “พรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก” ที่จะเริ่มเห็นรายได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ รวมถึงเซ็นเป็นคู่สัญญาประกันสุขภาพผู้สูงอายุกับทางเมืองไทยประกันชีวิตเพื่อขยายฐานลูกค้าของโครงการดูแลผู้สูงอายุ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ ประชาอุทิศ ด้วย

นอกจากนี้ยังมี “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” รับบริหารศูนย์หัวใจ 3 แห่ง และรับบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต ล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาก็ได้ขยายจำนวนเตียงผู้ป่วยโรคหัวใจมากขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการเปิด Horizon Rehab Center ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีภาวะเสพติดทุกประเภทที่ดำเนินการโดย “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ก็มีชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาบำบัดรักษาต่อเนื่อง

สำหรับ ตลาดต่างประเทศ เวียดนาม จะเป็นอีกพื้นที่สำคัญ เช่นเดียวกับเมียนมาร์ โดยได้มีการลงทุนศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในโฮจิมินห์ และยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มในอีก 2 เมือง ได้แก่ ดานัง และ โฮทรัม

เมื่อพิจารณามุมมองนายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารTHG ที่เคยประเมินทิศทางธุรกิจเฮลท์แคร์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่า ประเทศไทยมีประชากรในสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) เพิ่มขึ้นคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) อีก 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสเติบโตแตะเลขสองหลัก นั่นหมายความว่าธุรกิจเฮลท์แคร์จะโตขึ้นอีก 2 เท่าจึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจต้องเร่งเตรียมพร้อมช่วงชิง

ดังนั้นจึงคาดว่าการลงทุนทั้งส่วนที่เป็นบริการทางการแพทย์แบบออนไซต์ในโรงพยาบาล หรือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Digital Health tech ของเครือ THG คงไม่หยุดเพียงเท่านี้ อนาคตอันใกล้น่าจะได้เห็นโปรเจคท์ใหม่ๆ ทยอยเปิดตัวเป็นระยะ ซึ่งนั่นจะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางของ THG ว่าจะถูกทรานส์ฟอร์มไปในทิศทางใด และจะมียุทธวิธีตีฝ่าวงล้อมของคู่แข่งในธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า ออกไปได้อย่างไร...ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตา

ข้อมูลประกอบในบทความ

THG ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 ปี 2566
(งวด 6 เดือนแรก)
รายได้ 8,232 7,315 10,848 11,540 5,023
กำไรสุทธิ 459 22 1,357 1,677 402
อัตรากำไรขั้นต้น 22.7% 21.4% 31.7% 30.2% 28.8%
อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (%) 4.2 1.6 9.2 9.6 7.3
อัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (%) 5.6 0.8 15.7 16.6 10.5